รูปแบบของ องค์กรธุรกิจ มีกี่ประเภท อะไรบ้าง ทำธุรกิจพลาดไม่ได้เด็ดขาด !

by Donlaya C.
October 28th, 2019 • 4 minutes to read

องค์กรธุรกิจ

ก่อนที่จะเริ่มลงมือทำธุรกิจส่วนตัว ทางผู้ประกอบการเองจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาระบบธุรกิจที่ตัวเองต้องการจะทำเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น องค์กรธุรกิจ ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ก็ล้วนแต่จะต้องมีการวางแผนระบบการทำงานกันทั้งนั้น การจัดการองค์กรธุรกิจของตัวเองเรื่องของวิสัยทัศน์ในการทำงานนั้นสำคัญมาก ๆ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรธุรกิจของคุณเองให้เติบโตได้ดียิ่งขึ้น

แต่ทั้งนี้.. ก็ต้องยอมรับว่าองค์กรธุรกิจในปัจจุบันนั้นมีหลายรูปแบบ เราลองไปดูกันค่ะว่าองค์กรธุรกิจมีกี่ประเภท ระบบธุรกิจขององค์กรทางธุรกิจมีอะไรบ้าง

องค์กรธุรกิจ คืออะไร

สำหรับความหมายของ องค์กรธุรกิจ คือ องค์กรที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ โดยมักประกอบด้วยบุคคลตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป โดยกิจกรรมต่าง ๆ ในระบบธุรกิจ เกิดขึ้นเพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภค และหวังซึ่งผลกำไร ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรมการผลิตสินค้าหรือการบริการต่าง ๆ 

องค์ประกอบขององค์กรธุรกิจ

ธุรกิจ SME ก็ถือว่าเป็นองค์กรธุรกิจรูปแบบนึง จำเป็นที่จะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญขององค์กรธุรกิจเช่นกัน ได้แก่

1. ทรัพยากรบุคคล 

2. แหล่งเงินทุน

3. วัตถุดิบและวัตถุที่ต้องจัดหามาเพื่อใช้ในการผลิตหรือสร้างบริการ

4. กิจกรรมด้านการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจให้ดำเนินไป

อ่านเพิ่มเติม : ธุรกิจ sme คืออะไร พร้อมวิธีเขียนแผนธุรกิจ sme ให้ผ่านฉลุยสำหรับผู้ประกอบการ

รูปแบบองค์กรธุรกิจ

รูปแบบขององค์กรธุรกิจ สามารถแบ่งออกได้เป็น 7 ประเภท ได้แก่ 

1. กิจการเจ้าของคนเดียว 

กิจการเจ้าของคนเดียว คือ องค์กรธุรกิจที่มีเจ้าของเพียงคนเดียว หรือมีผู้ลงทุนในกิจการเพียงคนเดียว ยกตัวอย่างกิจการประเภทนี้ เช่น ร้านค้าปลีก-ส่ง ร้านค้าแผงลอย ธุรกิจส่วนตัวอื่น ๆ 

2. ห้างหุ้นส่วน 

ห้างหุ้นส่วน คือ กิจการที่มีบุคคลั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมกันลงทุนและดำเนินกิจการ มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งผลกำไรที่ได้จากการดำเนินงาน 

โดยองค์กรธุรกิจแบบห้างหุ้นส่วนสามารถแบ่งออกได้อีก 2 ประเภท คือ

– ห้างหุ้นส่วนสามัญ

– ห้างหุ้นส่วนจำกัด

ซึ่งแตกต่างกันตรงที่ ผู้ที่ลงทุนในห้างหุ้นส่วนสามัญ หุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดในหนี้สินทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนแบบไม่จำกัดจำนวน ในขณะที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย คือ หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ได้แก่ ผู้เป็นหุ้นส่วนอันมีหน้าที่รับผิดจำกัดเพียงจำนวนเงินที่ตนรับว่าจะลงทุนในห้างหุ้นส่วนเท่านั้น

3. บริษัทจำกัด 

บริษัทจำกัดเป็นองค์กรธุรกิจที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน มีการจัดตั้งขึ้นด้วยการแบ่งทุนเป็นหุ้น โดยแต่ละหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน ผู้ถือหุ้นมีหน้าที่รับผิดอย่างจำกัด โดยการรับผิดจะไม่เกินจำนวนเงินที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนประสงค์จะถือนั่นเอง

4. บริษัทมหาชนจำกัด 

บริษัทมหาชนจำกัด คือ องค์กรธุรกิจในรูปแแบบบริษัทอีกแบบหนึ่ง แตกต่างจากบริษัทจำกัดตรงที่ บริษัทมหาชนจำกัดตั้งขึ้นเพื่อมีวัตถุประสงค์ในการเสนอขายหุ้นให้กับบุคคลทั่วไป หรือประชาชน โดยผู้ถือหุ้นมีความรับผิดจำกัดไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ต้องชำระ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทมหาชนจำกัดที่มีการซื้อขายกันในตลาดหุ้น

5. สหกรณ์

เรียกได้ว่าเป็น องค์กรธุรกิจอย่างหนึ่งเช่นกัน โดยการจัดตั้งสหกรณ์มักจัดตั้งและดำเนินการโดยกลุ่มคนที่มีความประสงค์ และเป้าหมายเดียวกัน และร่วมกันจัดตั้ง ลงทุน ดำเนินการและเป็นเจ้าของร่วมกันด้วยความสมัครใจ ยกตัวอย่างสหกรณ์ที่หลาย ๆ คนอาจเคยได้ยินเช่น สหกรณ์เกษตร สหกรณ์โคนม สหกรณ์ร้านค้า

6. รัฐวิสาหกิจ

เป็นองค์กรภาครัฐ หรือรัฐบาล หมายถึงธุรกิจที่มีรัฐบาลเป็นเจ้าของ หรือมีทุนรวมอยู่ด้วย เกินกว่าร้อยละ 50 มีการบริหารงานอยู่ระหว่างระบบราชการและระบบองค์กรธุรกิจ โดยวัตถุประสงค์ขององค์กรธุรกิจลักษณะนี้คือ เพื่อหารายได้เข้าภาครัฐ เพิ่มเติมจากการเก็บภาษี เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน เป็นการป้องกันการผูกขาดของผู้ประกอบการเอกชน

7. กิจการแฟรนไชส์ 

กิจการแฟรนไชส์ เป็นธุรกิจที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 2 กลุ่มขึ้นไป (Franchisee และ Franchisor) หรือมากกว่า ในการมีส่งเสริมซึ่งกันและกันในระบบธุรกิจ มีวัตถุประสงค์จะกระจายสินค้าหรือบริการไปสู่ผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างระบบธุรกิจแบบแฟรนไชน์ คือ KFC, Swensen, Mcdonald  

ในการจัดตั้ง องค์กรธุรกิจ แต่ละประเภท จะเห็นได้ว่าในแต่ละระบบธุรกิจ มักมีเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการที่แตกต่างกัน องค์ประกอบของธุรกิจมีความต้องการในอัตราที่แตกต่างกัน ดังนั้นหากสนใจที่จะจัดตั้งองค์กรธุรกิจขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง อาจลองศึกษาถึงวัตถุประสงในการจัดตั้ง และหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อดี-ข้อเสียของการจัดตั้งองค์กรธุรกิจในรูปแบบที่แตกต่างกันด้วยเพื่อเป็นการเปรีบเทียบนั่นเองค่ะ

SHARE
56
SHARES