สถาบันการเงิน ในประเทศไทย คืออะไร มีกี่ประเภท


สถาบันการเงิน
คงพูดได้เต็มปากว่า ในชีวิตคนเรา ไม่มีใครที่ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับ “เงิน” ได้ ในยุคที่เม็ดเงินขับเคลื่อนหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างบนโลก และเมื่อพูดถึงเรื่อง “เงินๆ ทองๆ” แล้ว หลายคนคงนึกถึง “สถาบันการเงิน” อย่าง “ธนาคาร” ต่างๆ ซึ่งจริงๆ แล้ว คำว่า “สถาบันการเงิน” สามารถแบ่งออกได้หลายประเภทด้วยกัน โดยเป็นกิจการที่ประกอบธุรกิจสถาบันการเงินตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 นั่นเอง
สถาบันการเงิน คือ สถาบันที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับบริการทางการเงิน ได้แก่ รับ-ฝาก หรือถอนเงิน การให้สินเชื่อ บริการรับชำระเงิน และธุรกรรมอื่นๆ ตามที่กฏหมายกำหนด สถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นสถาบันผู้ให้บริการได้ทั้งบุคคลทั่วไป นิติบุคคลอย่าง บริษัท ห้างร้าน หรือหน่วยงานราชการ เป็นต้น
สถาบันการเงิน ภาษาอังกฤษ เรียกว่า “Financial Institutions”
หน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย มีอะไรบ้าง
1. การผลิตธนบัตรและออกธนบัตร
2. เป็นตัวแทนทางการเงินของรัฐ คอยดูแลควบคุมการดำเนินการของสถาบันการเงินให้เป็นไปตามความถูกต้องตามกฏเกณฑ์ที่กฏหมายกำหนด
3. ทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
4. เป็นหน่วยงานผู้กำหนดนโยบายทางการเงินของประเทศ
5. รักษาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
6. เป็นผู้วิเคราะห์และ กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
7. ดูแลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินต่าง ๆ
ประเภทของสถาบันการเงิน
สถาบันการเงิน แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ได้แก่
สถาบันการเงินที่เป็นธนาคาร
ธนาคารพาณิชย์ คือ สถาบันการเงินที่เพื่อนๆ รู้จักกันดีอย่างเช่น ธนาคาร เป็นผู้ให้บริการเกี่ยวกับ การระดมเงินออม จ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้ออมเงิน ให้เงินกู้ยืนแก่บุคคลธรรมดา หรือสินเชื่อบุคคล หรือเงินกู้ยืมเพื่อธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น สินเชื่อ SME เป็นต้น ได้แก่
– ธนาคารพาณิชย์ หรือ Commercial Bank – ธนาคารพานิชย์ที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพานิช หรือธนาคารทหารไทย เป็นต้น
– ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย หรือ Retail Bank – บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ แต่ไม่สามารถประกอบธุรกิจที่มีความซับซ้อนเช่น การให้บริการธุรกรรมที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น ปัจจุบันมีอยู่เพียงหนึ่งธนาคารคือ ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน)
– ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ (Subsidiary) – บริษัทมหาชนจำกัดจดทะเบียนในไทย ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และต้องมีธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 95% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด
– สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ หรือ Foreign Bank Branch – ก็คือธนาคารพาณิชย์ของต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์สาขาในไทย เช่น ธนาคารดอยซ์แบงก์ หรือ ธนาคารมิซูโฮ จำกัด เป็นต้น
สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร
บริษัทเงินทุน หรือ Finance Company คือ บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุน โดยรับฝากเงินหรือรับเงินจากประชาชน และจ่ายคืนเมื่อมีการทวงถาม ยกตัวอย่ากิจกรรมที่บริษัทเงินทุนได้รับอนุญาติให้สามารถให้บริการได้ ได้แก่ กิจการเงินทุนเพื่อการพาณิชย์ กิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนา กิจการเงินทุนเพื่อการจำหน่ายและการบริโภค กิจการเงินทุนเพื่อการเคหะ และกิจการเงินทุนอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่สามารถประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศได้
บริษัทเครดิตฟองซิเออร์ (Credit Fancier Company) บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ปัจจุบันมีอยู่ 3 แห่งคือ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ลินน์ ฟิลลิปส์ มอร์ทเก็จ จำกัด, บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ สหวิริยา จำกัด และ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ แคปปิตอล ลิ้งค์ จำกัด
นอกจากนี้ยังมีสถาบันอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ สถาบันการเงิน ที่เพื่อนๆ ควรรู้จักอีก ได้แก่
บริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) - ภาษาอังกฤษคือ Financial Institution Asset Management Corporation เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 เพื่อทำหน้าที่เป็นองกรณ์รับซื้อและรับโอนทรัพย์สินด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน มาบริหารจัดการและจำหน่ายจ่ายโอนต่อไป เพื่อชดเชยความเสียหายที่อาจเป็นผลจากการที่สถาบันการเงินถูกปิดกิจการลง
ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) – นอกจากสถาบันทางการเงินแล้ว ยังมีผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หมายถึง บริษัทจำกัดที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ โดยเป็นผู้ให้บริการทางการเงินแต่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ซึ่งก็ได้รับการกำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเช่นเดียวกัน ได้แก่ ผู้ให้บริการบริการทางการเงินดังต่อไปนี้
– ผู้ให้บริการบัตรเครดิต
– ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ
– ผู้ให้บริการสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพสำหรับบุคคลรายย่อย (นาโนไฟแนนซ์)
– ผู้ให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment)
– ผู้ให้บริการด้านการแลกเปลี่ยนเงินหรือโอนเงินตราต่างประเทศ