การลงทุนระยะยาว คืออะไร มีอะไรบ้างที่น่าลงทุน และได้ผลตอบแทนสูง


ลงทุนระยะยาว
การลงทุนระยะยาว เป็นเวลา 10 ปีขึ้นไป ถือว่าเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนนั้นวางแผนเอาไว้แล้ว เช่น การลงทุนระยะยาวในหุ้น การลงทุนระยะยาวผู้ลงทุนส่วนมากมักคาดหวังว่าจะได้ผลตอบแทนสูง แต่ขอบอกเลยค่ะว่าบางทีก็ไม่เสมอไป ขึ้นชื่อว่าเป็นการลงทุนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนระยะสั้น หรือ ลงทุนระยะยาว ก็ล้วนแต่มีความเสี่ยงทั้งนั้น
ในบทความนี้ Moneywecan จะพาทุกท่านไปดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนระยะยาวกันค่ะ ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร ลงทุนระยะยาวอะไรดีให้ได้ผลตอบแทนสูง จะมีอะไรบ้างเราลองไปดูกันเลยค่ะ
การลงทุนระยะยาว คืออะไร
การลงทุนระยะยาว คือ การลงทุนที่ผู้ลงทุนมีความตั้งใจว่าจะถือไว้เกิน 5 ปีขึ้นไป การลงทุนแบบนี้มีความผันผวนของภาวะตลาดที่ต่ำ โดยลักษณะการลงทุนระยะยาว หรือ Long term investment นั้น ผู้ลงทุนมักมีการกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ว่าเมื่อถึงเวลาที่กำหนดจะต้องการมีเงินไว้เท่าไร เพื่ออะไร เช่น กำหนดไว้ในอีก 5 ปีจะมีเงินเพื่อซื้อรถยนต์จำนวน 500,000 บาท หรือ ลงทุนเพื่อเกษียณอายุในอีก 20 ปีข้างหน้า
การลงทุนระยะยาวจึงเป็นการวางแผนทางการเงินเพื่อตอบโจทย์วัตถุประสงค์ และอาจมีการลงทุนในระยะสั้น ๆ เพื่อใช้เป็นตัวช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้การลงทุนระยะยาวถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้นได้ด้วย
ลงทุนระยะยาวอะไรดี
1.กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)
กองทุนรวมที่เน้นการลงทุนในหุ้นไม่ต่ำกว่า 65% แต่ในแต่ละกองทุนรวมหุ้นระยะยาวก็จะมีรายละเอียดในการลงทุนที่แตกต่างกันออกไป เช่น บางกองลงทุนเฉพาะหุ้นใน SET 50 บางกองลงทุนเฉพาะหุ้นในกลุ่มอุสาหกรรมบางประเภท
LTF บางกองมีจ่ายเงินปันผล และบางกองก็ไม่มีนโยบาย ข้อดีของการลงทุนในกองทุนรวม LTF อาทิ สิทธิประโยชน์ด้านภาษี มีเงินน้อยก็เริ่มต้นลงทุนได้ มีผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนลงทุนให้
การลงทุนระยะยาวใน LTF จะมีการถือครองไว้ 7 ปีปฏิทิน และจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี สามารถนำมาลดหย่อนได้ต้องไม่เกิน 15% ของรายได้ต่อปี และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
2.กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
เป็นกองทุนรวมระยะยาวที่ส่งเสริมให้มีการออมเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณอายุจากการทำงาน โดยมีเงื่อนไขให้ต้องถือครองไว้จนอายุ 55 ปี กองทุนรวม RMF เน้นการกระจายการลงทุนที่หลากหลาย เช่น ลงทุนทั้งในหุ้น พันธบัตรรัฐบาล ทองคำ
ผู้ลงทุนยังได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีโดยจำนวนเงินที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ต้องไม่เกิน 15% ของรายได้ต่อปี และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทด้วยเช่นกัน
3.พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond)
พันธบัตรรัฐบาล คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยหน่วยงานของภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจเพื่อระดมเงินทุนไปใช้ในโครงการต่าง ๆ มีระยะเวลาการลงทุนตั้งแต่ 3 ปี 5 ปี 7 ปี ฯลฯ โดยนักลงทุนจะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะได้รับการชำระหนี้หรือเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดและได้รับผลประโยชน์อื่น ๆ เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล จากลูกหนี้ซึ่งก็คือหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้ออกตราสารหนี้นั่นเอง
พันธบัตรรัฐบาลมักเป็นเครื่องมือในการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เพราะผู้ออกตราสารหนี้เป็นหน่วยงานรัฐที่ค่อยข้างมีความมั่นคงสูง อย่างไรก็ตามพันธบัตรรัฐบาลมักมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและความเสี่ยงด้านสภาวะเงินเฟ้อที่สูงเพราะมักมีระยะเวลาในการถือที่นาน ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยของพันธบัตรจะต้องถูกนำมาคิดภาษีด้วย
4.หุ้นกู้ (Bonds)
ลงทุนในหุ้นกู้ หรือ ตราสารหนี้เอกชน เพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในกิจการต่าง ๆ ของบริษัท เช่น เพื่อการลงทุนขยายกิจการ ซื้ออุปกรณ์ หรือเพื่อก่อสร้างโรงงาน เป็นต้น การออกหุ้นกู้มักจะกำหนดมูลค่าไว้ที่หน่วยละ 1,000 บาท และหุ้นกู้ส่วนใหญ่มักกำหนดมูลค่าการซื้อขั้นต่ำไว้ที่ 100,000 บาทหรืออาจมากกว่า
ผู้ซื้อหุ้นกู้จะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ ในขณะที่ผู้ออกหุ้นกู้จะมีสถานะเป็นลูกหนี้ ผู้ซื้อหุ้นจะได้รับเงินคืนเมื่อครบกำหนด พร้อมผลตอบแทนตามที่ได้ตกลงไว้
5.ฉลากออมทรัพย์
ทางเลือกในการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เป็นการฝากออมทรัพย์ลักษณะพิเศษ โดยผู้ฝากเงินจะได้รับดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่กำหนด และมีโอกาสจะถูกรางวัลตามหมายเลขบนสลากด้วย ปัจจุบันมีฉลากออมทรัพย์ที่เปิดจำหน่ายได้แก่ ฉลากออมสิน ธนาคารออมสิน, สลาก ธกส. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และ สลาก ธอส. ธนาคารอาคารสงเคราะห์
6.หุ้นปันผล
หุ้นปันผลมักเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานธุรกิจแข็งแกร่งและเติบโตมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนระยะยาว เก็บผลตอบแทนจากเงินปันผลไปเรื่อย ๆ
หากคุณเป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดทุนอยู่ สามารถรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นมาได้ การลงทุนในหุ้นปันผลเพื่อผลตอบแทนระยะยาว ก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจทีเดียว
7.ประกันออมทรัพย์
ประกันออมทรัพย์ หรือ ประกันสะสมทรัพย์ เป็นประกันชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งที่เน้นการออมเงิน และยังมาพร้อมกับความคุ้มครองต่าง ๆ ตามเงื่อนไขของบริษัท ผู้เอาประกันจะต้องส่งเบี้ยประกันให้ครบตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
เมื่อครบกำหนดก็จะได้รับเงินคืนตามเงื่อนไขโดยมีทั้งแบบจ่ายคืนเป็นเงินก้อนครั้งเดียว หรือแบบมีเงินคืนระหว่างทางตลอดสัญญา และถ้าหากผู้เอาประกันเสียชีวิตระหว่างที่ส่งกรมธรรม์ คนข้างหลังเราก็จะได้รับเงินก้อนที่เรียกว่า “จำนวนเงินเอาประกัน” ตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญากรมธรรม์ด้วย
ซึ่งข้อดีของการลงทุนนี้คือ ผลตอบแทนที่แน่นอน คุ้มครองชีวิตและสร้างความมั่นคงให้กับคนข้างหลัง ช่วยให้มีเงินก้อนไว้ใช้ในอนาคตตามวัตถุประสงค์ของการลงทุนระยะยาว และยังสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย
การลงทุนระยะยาวให้ประสบความสำเร็จ ผู้ลงทุนควรที่จะบริหารจัดการสินทรัพย์ในการลงทุนให้ได้ในระดับความเสี่ยงที่ตนเองสามารถรับได้ เพื่อที่จะได้ไม่ประสบกับปัญหาในเรื่องของสภาพคล่อง และสามารถ ลงทุนระยะยาว เพื่อวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้ได้ตั้งแต่ต้น