เงินทุนหมุนเวียน คืออะไร พร้อมบอกวิธีบริหารเงินทุนสำหรับการทำธุรกิจ


เงินทุนหมุนเวียน
เชื่อว่าหลายๆ คนที่กำลังเริ่มต้นทำธุรกิจ คงจะได้ยินคำว่า เงินทุนหมุนเวียน กันจนเกิดความสงสัยว่าเงินทุนหมุนเวียน คืออะไร สำคัญยังไง ? ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างใครที่กำลังหาแหล่งกู้ยืมเงินทุน สินเชื่อธุรกิจ คงจะได้เจอคำว่า สินเชื่อหมุนเวียนเพื่อธุรกิจ กันอยู่บ้าง วันนี้ เราจะมาดูกันว่าเงินทุนหมุนเวียนมีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจของเรากันบ้าง
เงินทุนหมุนเวียน คืออะไร?
เงินทุนหมุนเวียน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Working Capitalคือ เงินที่กิจการใช้หมุนเวียนเพื่อดำเนินกิจการภายในทั่วไปของธุรกิจ โดยปกติกิจการควรต้องมีเงินทุนหมุนเวียนสุทธิสำรองไว้ใช้ในกิจการ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ ก่อนที่จะได้รับเงินสดจากการขายสินค้าและบริการ หรือการชำระหนี้จากลูกหนี้การค้า
โดยเงินทุนหมุนเวียน หมายถึง เงินค่าใช้จ่ายภายในกิจการต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น เงินค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบ เงินสำหรับชำระหนี้คืนเจ้าหนี้การค้า หรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ อย่างเช่น เงินค่าจ้างพนักงาน หรือค่าเช่า เป็นต้น
ทำไม เงินทุนหมุนเวียน จึงสำคัญ?
เงินทุนหมุนเวียนเป็นเงินส่วนที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการประกอบธุรกิจส่วนตัว เพราะจะช่วยรักษาสภาพคล่องของการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับใครที่อยากทำธุรกิจส่วนตัวสามารถอ่านบทความเพื่อเตรียมตัวได้ที่นี่เลย
กิจการควรมีเงินทุนหมุนเวียนสำรองไว้เท่าไหร่?
แน่นอนว่า ธรรมชาติของการดำเนินธุรกิจแต่ละธุรกิจ ย่อมมีความแตกต่างกันออกไป แม้จะเป็นธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือธุรกิจที่จำหน่ายสินค้าและบริการประเภทเดียวกัน การจัดการภายในย่อมแตกต่างกันไป รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการทั่วไปด้วยเช่นกัน
ผู้ประกอบการสามารถนำ สูตรการคำนวณหาความต้องการของเงินทุนหมุนเวียนของกิจการ ไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจในการจัดสรรค์เงินสำรองเพื่อใช้ในการหมุนเวียนในกิจการได้ ดังนี้
เงินทุนหมุนเวียน = ลูกหนี้การค้า + สินค้าคงเหลือ – เจ้าหนี้การค้า
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจประมาณการสำรองเงินทุนหมุนเวียนได้จาก การดูงบกระแสเงินสดของกิจการ โดยปกติแล้วเงินทุนหมุนเวียนมักเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของกิจการ
เทคนิค การบริหารเงินทุนหมุนเวียน
หลักการง่ายๆ ใน การบริหารเงินทุนหมุนเวียน ในกิจการ จะเกี่ยวข้องกับการจัดการสัดส่วนของ สินทรัพย์หมุนเวียน และหนี้สินหมุนเวียนของกิจการให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
สินทรัพย์หมุนเวียน คือ สินทรัพย์ของกิจการที่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นเงินสดได้ ภายในระยะเวลาอันสั้น หรือภายใน 1 ปี ได้แก่ เงินสด เงินฝากธนาคาร สินค้าคงเหลือ ลูกหนี้การค้า เป็นต้น มักเรียกสินทรัพย์เหล่านี้ว่า เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงนั่นเอง
หนี้สินหมุนเวียน คือ หนี้สินที่มีระยะเวลาในการชำระคืนภายใน 1 ปี เช่น เงินเบิกเกินบัญชีธนาคาร หรือ OD และเงินกู้ยืมระยะสั้น เป็นต้น
หนี้สินหมุนเวียน และทรัพย์สินหมุนเวียน ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงของกิจการ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องดูแล เอาใจใส่ เกี่ยวกับสัดส่วนของสินทรัพย์ทั้งสองตัวนี้อย่างใกล้ชิด กล่าวคือ หากกิจการมีการลงทุนในทรัพย์สินถาวร มากกว่าการถือสินทรัพย์หมุนเวียนมากเกินไป อาจทำให้กิจการมีสภาพคล่องที่ต่ำ
แน่นอนว่าการถือสินทรัพย์ถาวรมากกว่า บางครั้งอาจหมายถึงการสร้างรายได้ทางการขายที่มากกว่า เช่น การมีเครื่องจักรจำนวนมาก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต แต่หากบริษัทขาดเงินทุนหมุนเวียน เช่น เงินสำหรับจัดซื้อวัตถุดิบ ก็อาจสร้างปัญหาการขาดสภาพคล่องให้กับกิจการ และการดำเนินงานได้ ส่งผลเสียต่อกิจการอาจถึงขั้นล้มละลายได้เลยทีเดียว
ในขณะเดียวกัน กิจการส่วนใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าในการบริหารเงินทุนหมุนเวียน ปกติจะมีสินทรัพย์หมุนเวียนในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับหนี้สินหมุนเวียน สะท้อนถึงการมีสภาพคล่องที่ดีเนื่องจากกิจการมีสินทรัพย์ที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ใน 1 ปี ใกล้เคียงกับหนี้สินที่ต้องชำระภายในระยะเวลา 1 ปีเช่นกัน
เงินทุนหมุนเวียนถือว่ามีความสำคัญในการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก ทักษะในการบริหารเงินทุนหมุนเวียนให้มีพร้อมใช้งานในบริษัทอยู่เสมอ ประกอบกับการที่กิจการสามารถบริหารสัดส่วนเงินทุนหมุนเวียน ให้สอดคล้องกับการทำกำไร และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ เป็นทักษะที่ผู้ประกอบธุรกิจควรมี เพื่อที่จะได้บริหารกิจการให้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
ในการบริหาร เงินทุนหมุนเวียน สิ่งสำคัญก็คือ ผู้ประกอบการจะต้องสามารถจัดสรรค์เงินทุนหมุนเวียนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยพิจารณาทั้งด้านความเสี่ยง และผลกำไรหรือผลตอบแทนของกิจการควบคู่ไปด้วย
