ธุรกิจค้าส่ง คืออะไร มีกี่ประเภทกันแน่ ?

by Donlaya C.
November 4th, 2019 • 4 minutes to read

ธุรกิจค้าส่ง

การทำธุรกิจในปัจจุบันนั้นมีมากมายหลายแบบด้วยกัน แต่รูปแบบการประกอบธุรกิจประเภทหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากเจ้าของกิจการเลยก็คือการทำ ธุรกิจค้าส่ง นั่นเอง ซึ่งเจ้าธุรกิจค้าส่งจะเน้นที่การขายสินค้าอุปโภค บริโภค รวมถึงบริการต่าง ๆ ในปริมาณที่มาก โดยจะแตกต่างจากธุรกิจค้าปลีกแบบสุด ๆ เพราะการค้าปลีกจะเป็นการขายสินค้า หรือบริการต่าง ๆ ให้กับลูกค้าโดยตรงแบบที่ไม่ผ่านคนกลาง สำหรับบริษัท หรือกิจการใด ๆ ที่กำลังสนใจอยากเปิดร้านขายส่งสินค้าอุปโภค หรือกำลังสนใจอยากเริ่มธุรกิจค้าส่ง ต้องอ่านบทความนี้ !!

ธุรกิจค้าส่ง คืออะไร ?

ธุรกิจค้าส่ง คือ ธุรกิจที่ดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายสินค้าและบริการให้แก่ผู้ที่ซื้อ ที่มีวัตถุประสงค์ในการซื้อเพื่อนำไปขายต่อให้แก่ผู้บริโภครายย่อย หรือที่เรียกกันว่า ธุรกิจค้าปลีก

พูดง่าย ๆ ก็คือ ธุรกิจค้าส่งเป็นกิจการที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้ค้าปลีก โดยปกติมักมีปริมาณการซื้อขายครั้งละมาก ๆ เนื่องจากเป็นการขายเพื่อนำไปขายต่อให้กับผู้บริโภค หรือเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมนั่นเอง 

รูปแบบธุรกิจค้าส่งมีกี่ประเภท

ธุรกิจการค้าส่ง หรือธุรกิจการเป็นพ่อค้าคนกลางแบบนี้ สามารถแบ่งออกได้หลัก ๆ 3 ประเภท ได้แก่

1. ผู้ค้าส่งอิสระ 

ผู้ค้าส่งอิสระเป็นผู้ประกอบการธุรกิจทั่วไปที่ดำเนินธุรกิจค้าส่ง โดยอาจเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ผลิตสินค้า สามารถต่อรองซื้อสินค้าจากโรงงานมาขายต่อให้กับผู้ประกอบการค้าปลีกได้ในราคาส่ง หรือราคาถูก เน้นปริมาณการขายจำนวนมาก 

ปัจจุบันผู้ค้าส่งอิสระดำเนินธุรกิจทั้งค้าส่งและค้าปลีกในธุรกิจเดียวกัน โดยอาจกำหนดปริมาณขั้นต่ำในการขายส่งไว้ เพื่อให้ผู้ค้าปลีกซื้อสินค้าได้ในราคาถูก ในขณะที่ผู้ซื้อจำนวนน้อยชิ้น จะต้องซื้อสินค้าในราคาขายปลีกนั่นเอง ช่องทางการขายนี้ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางการขาย (Distribution Channel) ให้กับผู้ผลิตนอกเหนือจากการมีสาขาเพิ่มเพื่อดำเนินธุรกิจค้าส่ง

อ่านเพิ่มเติม : ประเภทธุรกิจ คืออะไร มีกี่ประเภทกันแน่ คิดจะทำธุรกิจพลาดไม่ได้ !

2. สาขาการค้าส่งของผู้ผลิต 

 คือ สาขาที่โรงงานผู้ผลิตสินค้า แยกออกมาเพื่อดำเนินกิจกรรมการขายส่งผลิตภัณฑ์จากโรงงานไปยังผู้ค้าปลีก 

3. ตัวแทนนายหน้าค้าส่ง 

คือ นายหน้าค้าส่ง จะทำหน้าที่นำผู้ซื้อและผู้ขายมาพบกัน หรือเป็นผู้เจรจาให้เกิดการซื้อขายสินค้า รวมถึงเป็นผู้ดำเนินการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้ตามแต่ตกลง ซึ่งนายหน้าจะไม่มีกรรมสิทธิ์ครอบครองในสินค้า ไม่มีอำนาจในการกำหนดราคา นายหน้าจะได้ค่าตอบแทนเป็น ค่าคอม หรือ Commission กรณีที่การเจรจาซื้อขายสินค้าประสบผลสำเร็จ 

ยกตัวอย่างการทำธุรกิจค้าปลีกว่ามีอะไรบ้าง

ตัวอย่างธุรกิจค้าส่งมีอะไรบ้าง

จริง ๆ แล้ว บริษัทธุรกิจค้า ส่งนั้นมีมากมายเหลายเจ้าในปัจจุบันเรียกได้ว่าธุรกิจค้าส่งนั้นแทบจะอยู่ในทุกอุตสาหกรรมกันเลยทีเดียว วันนี้จะมายกตัวอย่างธุรกิจค้าส่งให้เพื่อน ๆ ได้ลองนึกภาพตามกันสัก 3 ธุรกิจ ดังนี้

1. ธุรกิจค้าส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูป 

เป็นตัวอย่างธุรกิจค้าส่งที่ใกล้ตัวเพื่อน ๆ มากเลยใช่มั้ยล่ะ ลองนึกถึงห้างประตูน้ำ แพลทตินั่ม หรือห้างขายส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่หลาย ๆ คนชอบไปเดินเลือกซื้อเสื้อผ้ากัน คงพอจะนึกออกว่า ร้านค้าส่วนใหญ่จะมีการกำหนดจำนวนสินค้าขั้นต่ำในการขายราคาส่ง เช่น ต้องเลือกซื้อเสื้อ 3 ตัวขึ้นไป จึงจะสามารถซื้อได้ในราคาส่ง ถ้าต่ำกว่า 3 ตัว ก็จะต้องซื้อราคาปลีก 

ซึ่งธุรกิจค้าส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูป เมื่อผู้ค้าปลีกซื้อไปแล้ว ก็สามารถนำไปขายต่อให้ผู้บริโภคได้เลย ไม่จำเป็นต้องนำสินค้าไปผ่านกระบวนการอะไรเพิ่มเติม 

2. ธุรกิจค้าส่งแบบ Modern trade 

เช่น แมคโคร ห้างขายสินค้าราคาส่งขวัญใจพ่อค้า แม่ค้ารายย่อย ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับร้านค้าปลีกต่าง ๆ รวมถึงบรรดาร้านอาหาร นอกจากผู้ค้าปลีกแล้ว ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ก็สามารถไปใช้บริการแมคโครได้ แต่อาจต้องซื้อสินค้าทีละเยอะ ๆ หน่อย เพราะอย่างที่บอก ว่าห้างนี้เค้าเน้นให้บริการลูกค้าธุรกิจค้าส่งนั่นเอง

3. ธุรกิจค้าส่งสินค้าไปใช้ในอุตสาหกรรม 

คือ ธุรกิจค้าส่งสินค้าจำพวก วัตถุดิบ ที่ใช้ในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปต่าง ๆ นั่นเอง เช่น ธุรกิจโรงทอผ้า ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ อย่างขวดน้ำพลาสติกที่ขายราคาส่งต่อให้โรงน้ำดื่ม เพื่อผลิตออกมาเป็นสินค้าสำเร็จรูปแล้วขายต่อลูกค้า

ธุรกิจค้าส่ง ถือเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ธุรกิจที่น่าสนใจไม่น้อยเลยในปัจจุบัน เพราะจุดเด่นของธุรกิจค้าส่งก็คือ ลูกค้าที่มักจะกลับมาใช้บริการในระยะยาว หากพึงพอใจในเรื่องบริการ ราคา ตลอดจนเครดิตต่าง ๆ แถมยังเป็นธุรกิจที่ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาลไปกับการหาทำเลที่ตั้งร้านค้าดี ๆ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งช้อยส์ธุรกิจที่น่าสนใจมาก ๆ เลยทีเดียว 

SHARE
54
SHARES